โรคอ้วนในเด็ก : มากกว่าแค่รูปลักษณ์ภายนอก

โรคอ้วนในเด็ก : มากกว่าแค่รูปลักษณ์ภายนอก

ปัญหาโรคอ้วนในเด็ก เป็นประเด็นที่สังคมควรต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก แต่หลายคนกลับมองข้ามความซับซ้อนของโรคนี้ไป โรคอ้วนถือเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และโรคหัวใจในอนาคต

โรคอ้วนสังเกตอย่างไร?

โรคอ้วนไม่ได้วัดเพียงแค่จากรูปลักษณ์ภายนอกที่เห็นว่าอ้วน หรือผอมเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับปริมาณไขมันในร่างกายเมื่อเทียบกับมวลกล้ามเนื้อ โดยทั่วไปจะใช้ดัชนีมวลกาย (BMI) เป็นตัวชี้วัดเบื้องต้น แต่สำหรับเด็กนั้นต้องพิจารณาจากปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อายุ เพศ และในเด็กให้ดูกราฟการเจริญเติบโต น้ำหนักเทียบกับส่วนสูง หรือ BMI ว่าเกินเกณฑ์ตามอายุ และเพศหรือไม่

วิธีสังเกตเบื้องต้น

คำนวนดัชนีมวลกาย

กราฟแสดงน้ำหนักและส่วนสูงตามเกณฑ์ของเด็กอายุ 2 -19 ปี เพศชาย
กราฟแสดงน้ำหนักและส่วนสูงตามเกณฑ์ของเด็กอายุ 2 -19 ปี เพศชาย : ที่มา : สมาคมต่อมไร้ท่อเด็กและวัยรุ่นไทย

 

กราฟแสดงน้ำหนักและส่วนสูงตามเกณฑ์ของเด็กอายุ 2 -19 ปี เพศหญิง
กราฟแสดงน้ำหนักและส่วนสูงตามเกณฑ์ของเด็กอายุ 2 -19 ปี เพศหญิง : ที่มา : สมาคมต่อมไร้ท่อเด็กและวัยรุ่นไทย

โรคอ้วนในเด็ก เกิดจากอะไรได้บ้าง?

  • การขาดออกกำลังกาย เด็กที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหว หรือมีพฤติกรรมการนั่งนานๆ เช่น ดูทีวี หรือเล่นเกม ทำให้ร่างกายไม่ได้ใช้พลังงาน
  • การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม เด็กที่กินแต่อาหารที่มีไขมันสูง และน้ำตาลสูงเป็นประจำ เช่น ขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม หรืออาหารจำพวกฟาสต์ฟู้ด ถึงจะไม่ได้กินในปริมาณที่มาก แต่การสะสมของไขมันในร่างกายก็สามารถเกิดขึ้นได้
  • พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ร่างกายของเด็กบางคนสะสมไขมันได้ง่าย แม้จะไม่ได้มีน้ำหนักตัวที่มาก ซึ่งสัมพันธ์กับเด็กที่มีพ่อแม่น้ำหนักเกินมักจะมีแนวโน้มให้เป็นโรคอ้วนสูงกว่า รวมถึงสภาพแวดล้อมของครอบครัวก็มีส่วนทำให้เกิดภาวะผอมแต่อ้วน
  • ความผิดปกติของฮอรืโมน เช่น ภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism) หรือ ภาวะขาดฮอร์โมนเจริญเติบโต ( Growth Hormone Dificiency)

โรคอ้วนในเด็กมีความเสี่ยงต่อสุขภาพในระยะยาว ได้แก่

  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2
  • ภาวะดื้อต่ออินซูลิน
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ความดันโลหิตสูง
  • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA)

ข้อแนะนำสำหรับพ่อแม่

การดูแลสุขภาพของเด็กควรเริ่มตั้งแต่ยังเล็ก การสร้างนิสัยการกินที่ดีและการออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยป้องกันปัญหาโรคอ้วน และโรคเรื้อรังอื่นๆ ได้ในระยะยาว  โดยมีข้อแนะนำ ดังนี้

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ส่งเสริมให้เด็กบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เช่น ผัก ผลไม้ และลดการบริโภคอาหารแปรรูป อาหารขยะ และน้ำอัดลม
  • ส่งเสริมให้เด็กออกกำลังกาย กระตุ้นให้เด็กมีกิจกรรมที่ได้ขยับร่างกาย เช่น วิ่งเล่น เล่นกีฬา หรือออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 60 นาที
  • ลดการใช้เวลาอยู่กับหน้าจอ ควบคุมการใช้เวลาในการดูทีวี เล่นเกม หรือใช้สมาร์ทโฟนให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม
  • ปรึกษาแพทย์ ควรพาลูกไปตรวจสุขภาพอยู่เสมอ หากลูกเข้าข่าย “โรคอ้วน” การตรวจคัดกรองจะมีบทบาทสำคัญในการประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต และผลจากการตรวจสามารถนำไปปรับแผนการดูแลสุขภาพของเด็กได้อย่างเหมาะสม

โรคอ้วนในเด็กเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว การคัดกรองภาวะโรคอ้วนตั้งแต่เนิ่นๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ผู้ปกครองสามารถสังเกตพฤติกรรม และลักษณะภายนอกของลูกหลานได้เบื้องต้น และหากมีความกังวล ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง


ปรึกษาแพทย์


    Related Health Blogs

    Related Doctors